ความบกพร่องทางการเรียนรู้ [Learning Disabilities=L.D.]

   ปัจจุบันยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนและ เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างสำหรับคำว่าบกพร่องทางการเรียนรู้ [learning disabilities] เนื่องจากการที่ธรรมชาติของศาสตร์สาขาต่างๆที่เกี่ยวนั้นมีความหลากหลายมาก และด้วยเหตุนี้จึงมีคำจำกัดความของคำนี้ไม่ต่ำกว่า 12แบบปรากฏอยู่ในตำราต่างๆ


คำจำกัดความเหล่านี้มีประเด็นตรงกันอยู่บางส่วนดังนี้

1. คนที่เป็น LD.มีความยากลำบาก ปัจจุบันยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางสำหรับคำว่าความบกพร่องทางการเรียนรู้[Learning Disabilities] เนื่องมาจากการที่ธรรมชาติของศาสตร์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้นมีความหลากหลายมาก และด้วยเหตุนี้จึงมีคำจำกัดความของคำนี้ไม่ต่ำกว่า 12 แบบปรากฏอยู่ในตำราต่างๆในเรื่องสัมฤทธิ์ผลและการพัฒนาด้านการเรียนวิชาการ มีความขัดแย้งระหว่างศักยภาพในการเรียนรู้ของเขากับสิ่งที่บุคคลนั้นเรียนรู้ได้จริง


2. คนที่เป็น LD. มีพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่สอดคล้องกัน (พัฒนาการทางภาษา, พัฒนาการทางร่างกาย, พัฒนาการทางการเรียนรู้ทางวิชาการ, และ/หรือพัฒนาการทางการรับรู้)


3. ปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดมาจากการขาดโอกาสที่จะได้รับสิ่งแวดล้อมช่วยส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการในวัยเด็ก


4. ปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดมาจากภาวะปัญญาอ่อนหรือการมีความบกพร่องทางการอารมณ์


อะไรคือสาเหตุของการเป็น LD. ในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของการเป็น LD.ยังมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามได้มีการค้นพบข้อสังเกตโดยทั่วไปมีดังนี้


- เด็กบางคนพัฒนาและมีวุฒิภาวะในอัตราที่ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้นเด็กเหล่านี้จึงไม่สามารถทำงานในชั้นเรียนที่ได้รับมอบหมายได้ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ประเภทนี้ว่า “ช่องว่างทางวุฒิภาวะ” [maturation lag]

- เด็กบางคนมีการเห็นและการได้ยินเป็นปกติ แต่ตีความภาพและเสียงที่ได้ยินในชีวิตประจำวันผิดพลาดเนื่องจากความบกพร่องบางอย่างในระบบประสาทส่วนกลางซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้

- การได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงก่อนคลอดหรือในช่วงต้นๆ ของชีวิตอาจเป็นสาเหตุของปัญหาการเรียนรู้บางอย่างได้

- เด็กที่เกิดก่อนกำหนดและเด็กที่มีปัญหาทางการแพทย์ในช่วงหลังคลอดหรือวัยทารกก็อาจเป็น LD. ได้

- ความบกพร่องทางการเรียนรู้ดูจะพบต่อเนื่องในครอบครัวหรือตระกูลเดียวกัน ความบกพร่องทางการเรียนรู้บางอย่างจึงอาจเป็นกรรมพันธุ์ก็ได้

- ความบกพร่องทางการเรียนรู้พบมากในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเพราะเด็กชายมีแนวโน้มที่จะมีวุฒิภาวะช้ากว่าเด็กหญิง

- มีการพบว่าความบกพร่องทางการเรียนรู้บางอย่างสัมพันธ์กับการสะกดคำ การออกเสียงและโครงสร้างที่ไม่เป็นระบบของภาษา


มีอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณตือนว่าเด็กคนนี้อาจเป็น LD.,

เด็กที่เป็น LD. มีลักษณะต่างๆที่หลากหลายมาก ได้แก่ ปัญหาการอ่าน คณิตศาสตร์ ความเข้าใจ ภาษา การเขียน หรือ ความบกพร่องทางการเรียนรู้มักจะกระทบต่อด้านต่างๆ 5 ด้าน ดังนี้


1. ภาษาพูด: มีความล่าช้า, บกพร่อง, และผิดพลาดในการฟังและการพูด

2. ภาษาเขียน: มีความยากลำบากในการอ่าน, การเขียน และ การสะกดคำ

3. เลขคณิต: มีความยากลำบากในการคำนวณ หรือการเข้าใจหลักการพื้นฐานของการคำนวณ

4. การใช้เหตุผล: มีความยากลำบากในการจัดระบบ ประมวลและผสมผสานความคิดความรู้ของตนเองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

5. ความจำ: มีความยากลำบากในการจดจำข้อมูลและคำสั่งต่างๆ


อาการที่มักสัมพันธ์กับความบกพร่องทางการเรียนรู้


* ทำข้อสอบที่นั่งทำพร้อมกันทั้งชั้นไม่ได้ดี

* ไม่สามารถแยกแยะขนาด รูปร่าง และ สี

* มีความลำบากในการทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับเวลา

* มีการรับรู้เกี่ยวกับส่วนต่างๆของร่างกายที่ผิดพลาด

* รับรู้สลับทิศทาง เช่น ซ้ายเป็นขวา หรือ บนเป็นล่าง ในการอ่านเขียน

* การเคลื่อนไหวมักเงอะงะ ซุ่มซ่าม อยู่ไม่นิ่ง

* การประสานสัมพันธ์ระหว่างตา-มือไม่ดี

* ขาดทักษะการจัดระบบข้อมูล หรือการจัดการต่างๆ

* สับสนได้ง่ายกับคำสั่งที่ได้รับ

* มีความยากลำบากในการใช้เหตุผลในเรื่องที่เป็นนามธรรม และ/หรือ การแก้ปัญหาที่เป็นนามธรรม

* การคิดที่ไม่เป็นระบบ

* มักหมกมุ่นอยู่กับเรื่อง หรือความคิดบางอย่างมากเกินไป

* ความจำระยะสั้นหรือระยะยาวไม่ดี

* ผลีผลาม ขาดการคิดใคร่ครวญให้ดีก่อนลงมือกระทำการใดๆ

* มีความอดกลั้นต่ำต่อความไม่ถูกใจ ความคับข้องใจต่างๆ

* ความสัมพันธ์กับเพื่อนไม่ดี

* ตื่นเต้นจนเกินเหตุในระหว่างการเล่นร่วมกับกลุ่มเพื่อน

* มีการตัดสินใจทางสังคมที่ไม่เหมาะกับวัย เช่น พัฒนาการทางการใช้กล้ามเนื้อ พัฒนาการทางภาษา

* มักมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์

* ไม่สามารถตระหนักถึงผลที่เกิดจากการกระทำของตน

* เชื่อคนง่ายเกินไป ถูกเพื่อนฝูงชักจูงได้ง่าย

* อารมณ์และการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆแปรปรวนจนเกินควร

* ปรับตัวต่อการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ๆได้ยาก

* วอกแวกง่ายมาก จดจ่อในงานได้ยาก

* มีความยากลำบากในการตัดสินใจ

* ไม่ชัดเจนว่าถนัดมือไหนกันแน่ หรือใช้ได้ทั้งสองมือ

* มีความยากลำบากในการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการจัด หรือเรียงลำดับต่างๆ


ในการพิจารณาอาการข้างต้นนี้ ควรนึกถึงประเด็นต่อไปนี้อยู่ด้วยเสมอ นั่นคือ

- ไม่มีใครมีอาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ในเพียงคนเดียว

- ในหมู่คนที่เป็น LD.ด้วยกันนั้น อาการบางอาการก็พบบ่อยกว่าอาการอื่น

- คนทั่วไปทุกๆคนก็มีอาการข้างต้นสัก2-3ข้อ ในระดับหนึ่งเป็นธรรมดา

- จำนวนอาการที่พบในเด็กแต่ละคนไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า ความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กผู้นั้นจะรุนแรงหรือมีเพียงเล็กน้อย สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าพฤติกรรมนั้นเป็นอย่างต่อเนื่องและพบร่วมกันเป็นกลุ่มของอาการหรือไม่ต่างหาก


ผู้ปกครองควรทำอย่างไรถ้าสงสัยว่าลูกหลานเป็นLD.

   ผู้ปกครองควรติดต่อโรงเรียนของลูกและขอให้มีการทดสอบและประเมินเด็ก หากผลการทดสอบบ่งชี้ว่า เด็กจำเป็นต้องได้รับบริการการศึกษาพิเศษ คณะทำงานด้านการประเมินของทางโรงเรียน (ซึ่งทำหน้าที่วางแผนและกำหนดชั้นเรียนให้แก่เด็ก) จะประชุมกันเพื่อพัฒนาแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล(IEP) ที่ตอบสนองความต้องการของเด็ก ใน IEP จะมีรายละเอียดของแผนการศึกษาที่มุ่งซ่อมเสริมและทดแทนส่วนที่บกพร่องของเด็ก

   ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เด็กประจำครอบครัวเพื่อรับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เด็กควรได้รับการตรวจร่างกายเพื่อค้นหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาในชั้นเรียนซึ่งอาจแก้ไขให้ปกติได้ เช่น สายตาสั้น การได้ยินบกพร่อง เป็นต้น


การเป็น LD. มีผลกระทบต่อผู้ปกครองของเด็กอย่างไร


    ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปฏิกิริยาของผู้ปกครองต่อผลการวิจัยว่าเด็กเป็น LD. นั้นรุนแรงเด่นชัดกว่า การที่เด็กมีความบกพร่องด้านอื่นๆ โปรดนึกถึงเด็กที่ปัญญาอ่อนระดับรุนแรง หรือ พิการทางร่างกาย ผู้ปกครองจะเริ่มตระหนักถึงปัญหาตั้งแต่ภายในสัปดาห์แรกๆที่ทารกเกิดมา อย่างไรก็ตาม พัฒนาการในวัยอนุบาลของเด็กที่เป็น LD. นั้นมักไม่แน่นอน และผู้ปกครองมักจะไม่ค่อยได้รู้สึกว่าเด็กมีปัญหา เมื่อได้รับการแจ้งว่าเด็กมีปัญหาจากทางโรงเรียนในระดับประถม ปฏิกิริยาอันดับแรกของผู้ปกครองโดยทั่วไปคือ การปฏิเสธว่าเด็กไม่ได้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ แน่นอนว่าการปฏิเสธเช่นนี้ไม่ส่งผลดีแก่เด็กเลย พ่อมักจะมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในขั้นปฏิเสธนี้เป็นเวลานาน เพราะพ่อมักจะไม่ค่อยได้เข้าเกี่ยวข้องกับความคับข้องใจและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่ทุกวันในชีวิตประจำวันของเด็ก

    Eleanor Whitehead อธิบายว่าผู้ปกครองของเด็กที่เป็น LD. มักจะต้องผ่านขั้นตอนทางอารมณ์ต่างๆ ก่อนจะยอมรับเด็กได้อย่างแท้จริง ขั้นตอนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำนายได้แน่นอน ผู้ปกครองแต่ละคนเปลี่ยนจากขั้นตอนหนึ่งไปอีกขั้นตอนอย่างไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ผู้ปกครองบางคนอาจข้ามขั้นตอนบางขั้นตอนไป ขณะที่บางคนก็คงอยู่ในขั้นนั้นเป็นเวลานานมาก ขั้นตอนเหล่านี้ได้แก่

*การปฏิเสธความจริง(Denial) : “ลูกไม่ได้มีอะไรผิดปกติสักหน่อย” “เล็กๆฉันก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน-ไม่ต้องห่วงหรอก!แล้วพอโตเขาก็หายเองแหละ”

*การกล่าวโทษ(blame) : “คุณโอ๋แกมากเกินไป!” “คุณตั้งความหวังกับแกสูงเกินไป” “ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถ่ายทอดมาจากตระกูลผมแน่ๆ”

*การหวาดหลัว(fear) : บางทีเขาอาจไม่ได้บอกปัญหาที่แท้จริงกับเราก็ได้!” “มันแย่กว่าที่เขาบอกหรือเปล่า?” “ลูกจะมีโอกาสแต่งงานหรือเปล่า?” “เขาจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือเปล่า?” “เขาจะเรียนจบหรือเปล่า?”

*การอิจฉา (envy) : “ทำไมเขาถึงไม่เหมือนพี่น้อง หรือ ลูกพี่ลูกน้องของเขา”

*การคร่ำครวญ (mourning) : “เขาอาจประสบความสำเร็จก็ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะไอ้เจ้าความบกพร่องทางการเรียนรู้นี่!”

*การต่อรอง (bargaining) : “รอดูไปจนถึงปีหน้าก่อนแล้วกัน!” “บางทีปัญหานี้อาจค่อยๆดีขึ้นถ้าเราย้ายบ้าน/โรงเรียน หรือถ้าเขาไปเข้าแค้มป์ หรือ..............ฯลฯ

*การโกรธ (anger) : “ครูนี่ไม่รู้อะไรเลย!” “ฉันเกลียดคนแถวนี้, โรงเรียนนี้ ....ครูคนนี้”

*การรู้สึกผิด (guilt) : “แม่ฉันพูดถูก ฉันควรใช้ผ้าอ้อมแบบผ้าเมื่อตอนเขายังเป็นทารก” “ฉันไม่ควรออกไปทำงานเมื่อตอนเขายังไม่ครบขวบเลย” “ ฉันกำลังถูกฟ้าดินลงโทษและผลก็คือลูกของฉันกำลังมีปัญหา”

*การแยกตัวออกจากสังคม(isolation) : “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะเข้าใจและแคร์ลูกของฉัน” “มีแต่ลูกกับแม่เท่านั้นในโลกนี้ ไม่มีใครอีกแล้วที่เข้าใจเรา”

*การวิ่งหาความช่วยเหลือไปเรื่อยๆ (flight) : “ลองวิธีการรักษาแบบใหม่นี้กันเถอะ โตนาฮิว บอกว่ามันได้ผล!” “เราจะไปคลินิกโน้นทีคลินิกนี้ที จนกว่าจะมีใครสักคนบอกในสิ่งที่ฉันอยากได้ยิน”


    ในทำนองเดียวกัน แบบแผนของปฏิกิริยาเหล่านี้ก็ไม่แน่นอน ยิ่งพ่อและแม่อยู่ในขั้นตอนที่แตกต่างและขัดแย้งกันในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น การกล่าวโทษ vs. การปฏิเสธ การโกรธ vs. การรู้สึกผิด เป็นต้น บ่อยครั้งเท่าใดสถานการณ์ก็จะเลวร้ายยิ่งขึ้นเท่านั้น สภาพเช่นนี้สามารถทำให้การสื่อสารระหว่างพ่อแม่ลำบากยุ่งยากยิ่งขึ้น


    ข่าวดีก็คือ หากได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เด็กที่เป็นLD.ส่วนใหญ่สามารถพัฒนาไปได้มากทีเดียว มีผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ทั้งที่เป็นทนายความ ผู้บริหารระดับสูง แพทย์ ครู ฯลฯ ผู้ซึ่งมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่สามารถเอาชนะข้อบกพร่องของตนเองได้ และประสบความสำเร็จในชีวิต ในปัจจุบันด้วยการศึกษาพิเศษและอุปกรณ์การสอนที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษต่างๆมากมาย เด็กที่เป็น LD.สามารถได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ


คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองของเด็กที่เป็น LD.


1) หาเวลาที่จะฟังลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (พยายามอย่างจริงจังที่จะเข้าใจลูกได้จริงๆ)

2) แสดงความรักต่อลูกด้งการสัมผัส การกอด การสะกิดสะเกา และการกอดปล้ำกับลูก (เด็กประเภทนี้ต้องการการสัมผัสทางกายมากเป็นพิเศษ)

3) มองหาและส่งเสริมสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัด สนใจ และมีความสามารถ ช่วยให้ลูกใช้คุณสมบัติ และความสามารถเหล่านั้นเพื่อชดเชยความจำกัดหรือข้อบกพร่องใดๆที่เขามี

4) ให้รางวัลลูกด้วยการชมเชย คำพูดที่น่าชื่นใจ รอยยิ้ม และการตบหลังเบาๆ บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

5) ยอมรับเขาตามที่เขาเป็นจริงๆ และยอมรับศักยภาพที่จะเติบโตและพัฒนาของเขาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงเมื่อตั้งความคาดหวังและตั้งข้อเรียกร้องจากเขา

6) พยายามดึงให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบ กิจวัตรประจำวัน กำหนดการทำกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว

7) บอกให้ลูกรู้เมื่อเขาประพฤติตัวไม่เหมาะสม และอธิบายว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของเขา จากนั้นให้เขาเสนอวิธีการประพฤติตัวที่ยอมรับได้มากกว่านี้

8) ช่วยลูกแก้ไขข้อผิดพลาดของงานที่ทำด้วยการทำให้ดู สาธิตว่าควรจะทำอย่างไร อย่ากระแนะกระแหนลูก!

9) ให้ลูกรับผิดชอบงานบ้านและหน้าที่ในครอบครัวตามสมควร ทุกครั้งที่เป็นไปได้

10) ฝีกให้เขามีค่าขนมแต่เนิ่นๆ เท่าที่จะทำได้ และช่วยเขาวางแผนการใช้จ่ายในวงเงินที่ได้รับนั้น

11) จัดหาของเล่น เกม รวมทั้งจัดโอกาสในการทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูก

12) อ่านนิทาน/นิยายสนุกๆให้ลูกฟัง และ อ่านร่วมกับลูกเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น กระตุ้นให้ลูกถามคำถาม พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังหรืออ่านไป เล่าเรื่องที่ฟังหรืออ่านไป และอ่านเรื่องนั้นซ้ำอีกรอบหนึ่ง

13) ช่วยให้ลูกสามารถมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำได้ดีขึ้น โดยลดสิ่งรบกวนต่างๆรอบตัวที่จะดึงความสนใจเขาออกงานให้เหลือน้อยที่สุด เช่น จัดที่นั่งหรืออ่านหนังสือ และเล่นให้โดยเฉพาะ

14) อย่าวิตกจริตกับคะแนนสอบ! เรื่องสำคัญอยู่ที่ลูกกำลังพัฒนาไปตามกำลังของเขา และได้รับรางวัลในการที่เขาทำเช่นนั้นหรือไม่

15) พาลูกไปห้องสมุด และ สนับสนุนให้ลูกเลือกและยืมหนังสือกลับไปอ่านตามความสนใจของเขา ให้เขาได้เล่าถึงเรื่องที่อ่านมาให้คุณฟัง จัดหาหนังสือที่น่าสนใจ และอุปกรณ์การอ่านไว้ในบ้าน

16) ช่วยลูกพัฒนาความรู้สึกนับถือตนเอง และแข่งขันกับตนเอง แทนที่จะไปเทียบตนเองกับคนอื่น

17) ยืนยันหนักแน่นว่าลูกจะต้องให้ความร่วมมือทางสังคมโดยการเล่น การช่วยเหลือและการบริการผู้อื่นในครอบครัว และชุมชน

18) ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก โดยการอ่าน และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองสนใจ พูดคุยและเล่าถึงสิ่งที่คุณอ่านหรือคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณอ่านอยู่

19) อย่าลังเลที่จะปรึกษาครู หรือ ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆเมื่อคุณรู้สึกต้องการความช่วยเหลือ เพื่อที่คุณจะเข้าจำได้ดียิ่งขึ้นว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อช่วยลูกของคุณให้เรียนรู้ได้



เอกสารอ้างอิง

เรียบเรียงโดย ดร. ศรินทร วิทยะศิรินันท์

ชมรมผู้ปกครองบุคคลบกพร่องทางการเรียนรู้ จังหวัดนครสวรรค์ ขอบคุณข้อมูลดีดีที่เป็นประโยชน์จาก : autisticthailand.net



“ความบกพร่องทางการเรียนรู้”

“ภาวะการเรียนบกพร่อง”

“LD คืออะไร”

“LD หนึ่งในโรคสมองที่อาจทำให้หลายคนดูโง่”

“แนวทางการสอนเด็ก LD”

“การบำบัดทางเลือกในเด็กพิเศษ”

“เคล็ดไม่ลับดูแลเด็ก LD โรคมีปัญหาการเรียน”

“รักษาด่วน”

ติดต่อชมรมฯ ได้หลายช่องทาง ดังนี้

เราทุกคนสามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลชมรมฯได้หลายช่องทาง สามารถเลือกได้ตามความสะดวก

สถานที่ตั้งชมรมผู้ปกครองบุคคลบกพร่องทางการเรียนรู้ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 206 หมู่ที่ 3 ตำบล หนองกรด อำเภอ บรรพตพิสัย จังหวัด นครสวรรค์ รหัสไปรษณีย์ 60180

ติดต่อชมรมฯ ทาง Line

ld nakonsawan

ติดต่อชมรมฯ ทางอีเมล

pattanan32227@gmail.com

ติอต่อชมรมฯ ทางโทรศัพท์

Tel : 093-2751308

พิมพ์ข้อความเพื่อส่งถึงชมรมฯ